ว่ากันด้วยเรื่องความ "ดุ" ของสุนัข ... ข่าวพาดหัวหน้าหนึ่งที่เราได้พบกันบ่อยครั้งคือการที่สุนัขซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ซื่อสัตย์นั้นได้ทำร้ายคน จนได้รับบาดเจ็บหรือบางครั้งรุนแรงมากจนถึงขั้นเสียชีวิต
เวลาได้ยินข่าวแบบนี้คนส่วนใหญ่มักจะมุ่งประเด็นไปที่ตัวของสุนัขก่อนเลยว่า เป็นสุนัขสายพันธุ์อะไร พันธุ์ดุ หรือเปล่า ถ้าหากเป็นสายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความดุซึ่งเป็นข่าวให้เราเห็นกันบ่อยๆ เช่น พิทบูล เทอร์เรีย , ร็อตไวเลอร์ , บางแก้ว ฯ คนทั่วไปก็มักจะมองว่าเป็นเพราะสุนัขเหล่านี้มีนิสัยดุร้าย ไม่เหมาะที่จะนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวคน เพราะอาจจะทำอันตรายได้ทุกเมื่อ
เวลาได้ยินข่าวแบบนี้คนส่วนใหญ่มักจะมุ่งประเด็นไปที่ตัวของสุนัขก่อนเลยว่า เป็นสุนัขสายพันธุ์อะไร พันธุ์ดุ หรือเปล่า ถ้าหากเป็นสายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความดุซึ่งเป็นข่าวให้เราเห็นกันบ่อยๆ เช่น พิทบูล เทอร์เรีย , ร็อตไวเลอร์ , บางแก้ว ฯ คนทั่วไปก็มักจะมองว่าเป็นเพราะสุนัขเหล่านี้มีนิสัยดุร้าย ไม่เหมาะที่จะนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ตัวคน เพราะอาจจะทำอันตรายได้ทุกเมื่อ
... จริงๆ แล้วความคิดนี้จะว่าไปก็ไม่ถือว่าผิดเสียทีเดียว เพราะว่า "ความดุ" ของสุนัขนั้น ส่วนหนึ่งก็มีผลมาจากสายพันธุ์ของสุนัข ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสุนัขที่มีนิสัยค่อนข้างดุจะเป็นสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้งานหนักๆ เช่น สุนัขในกลุ่มเฝ้าระวังในการเลี้ยงสัตว์ (เลี้ยงไว้เพื่อ ต้อนวัว ต้อนแกะ ไล่หมี ฯลฯ) หรือสุนัขในกลุ่มที่เลี้ยงไว้เพื่ออารักขา ระวังภัย
ส่วนใหญ่สุนัขเหล่านี้จะมีสัญชาตญาณในการเป็นนักล่าและนักสู้สูง ประสาทการรับรู้ไว ตื่นตัวอยู่เสมอเมื่อมีสิ่งเร้าหรือแรงกระตุ้นต่างๆ ... แต่ทั้งนี้ ปัจจัยในเรื่องของสายพันธุ์ของสุนัขนั้น ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้ว่าสุนัขตัวนั้นอาจมีนิสัยดุหรือก้าวร้าว เพราะในความเป็นจริงแล้ว ปัจจัยที่สำคัญกว่าเรื่องของสายพันธุ์ของสุนัข ที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่าสุนัขจะดุหรือไม่นั้นอยู่ที่้"ลักษณะวิธีการเลี้ยงดู" และ"พฤติกรรมที่เจ้าของปฏิบัติกับสุนัขของตัวเอง" เสียมากกว่า
ไม่ว่าสุนัขสายพันธุ์ไหนก็ "ดุ" ได้ถ้าเลี้ยงผิดวิธี
ไม่ว่าจะเป็นหมาไทย หรือหมาเทศ ตัวใหญ่ หรือตัวเล็ก หูตั้ง หรือหูตูบ ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นสุนัขที่จะดุได้ ไม่จำเป็นเลยค่ะที่สุนัขดุ จะต้องเป็นสุนัขตัวใหญ่หน้าโหดเท่านั้น ... เพราะส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมดุร้าย ก้าวร้าว ของสุนัข มักจะเกิดมาจากลักษณะการเลี้ยงดูของผู้เลี้ยง ที่มีความเข้าใจผิดๆ ในการเลี้ยงสุนัข
อย่างในผู้เลี้ยงสุนัขตัวใหญ่สายพันธุ์ดุหลายคน มักจะคิดว่าสุนัขของตัวเองไม่เหมาะกับการพาออกไปเข้าสังคม เนื่องจากยากต่อการควบคุม กลัวจะเกิดอันตรายต่อคนอื่น ดังนั้นจึงเลือกที่จะขัง หรือกักบริเวณสุนัขเอาไว้เพื่อความปลอดภัยและไม่ต้องเสี่ยงต่อการรับผิดชอบต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้น
... เพื่อนๆ ทราบหรือเปล่าคะว่า พฤติกรรมการเลี้ยงสุนัขแบบนี้ล่ะค่ะ ที่เป็นสิ่งที่ส่งผลให้สุนัขมีนิสัยดุและก้าวร้าว เนื่องจาก สุนัขนั้นเป็นสัตว์สังคม การที่สุนัขไม่ได้พบปะผู้คน หรือสุนัขตัวอื่นๆ บวกกับการที่ถูกกักขัง หรือล่ามไว้ตลอดเวลา จะทำให้สุนัขเกิดความระแวงต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว เนื่องจากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกดดัน ทำให้สุนัขเกิดความเครียด เมื่อได้รับอิสระสุนัขอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวและดุร้ายได้
นอกจากนี้ การเลี้ยงสุนัขโดยไม่ให้เขารู้จักเข้าสังคม ยังทำให้สุนัขขาดการเรียนรู้และการใช้สัญชาตญาณต่างๆ เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันสุนัขตัวอื่นๆ หรือสมาชิกคนอื่นๆ ที่อยู่ในครอบครัว (หรือบริเวณใกล้บ้าน) สุนัขอาจจะไม่สามารถแยกได้ว่าใครเป็นมิตรหรือศัตรู ... ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การเข้าสังคมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสุนัข ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนก็ตาม
หรือในกรณีที่ผู้เลี้ยงสุนัขสายพันธุ์เล็ก (ตัวฟู หน้าตาบ้องแบ๊วน่ารัก) ที่ชอบเลี้ยงสุนัขของตัวเองเหมือนเลี้ยงเด็กตัวเล็กๆ ชอบโอ๋ ชอบตามใจ (เรียกง่ายๆ ว่าสปอยล์ นั่นล่ะค่ะ) เวลาสุนัขเห่า ส่งเสียงดังโวยวาย หรือมีท่าทีที่จะทำร้ายคนแปลกหน้า ก็มักจะไม่ดุหรือห้าม เพราะคิดว่าเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก คงไม่สามารถทำอันตรายต่อใครได้
... การปล่อยให้สุนัขมีนิสัยแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่ผู้เลี้ยงไม่ดุ ไม่เตือน ไม่หาวิธีควบคุมจะเป็นการที่ทำให้สุนัขเคยตัว และคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง ซึ่งในระยะยาวก็จะส่งผลให้เขากลายเป็นสุนัขตัวเล็กๆ ที่มีนิสัยความก้าวร้าวได้
การเล่นกับสุนัขด้วยวิธีการผิดๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สุนัขมีนิสัยก้าวร้าวได้ โดยที่ผู้เลี้ยงเองอาจไม่รู้ตัว เช่น ผู้เลี้ยงบางคนชอบแกล้งยั่วยุสุนัขให้โกรธ ด้วยการเขย่าหัวแรงๆ , ล่อให้สุนัขกัดสิ่งของต่างๆ หรือยั่วยุให้โกรธด้วยท่าทาง ใช้มือล่อให้สุนัขกัด ฯ การเล่นในลักษณะนี้จะเป็นการกระตุ้นให้สุนัขใช้ความรุนแรง โดยขาดการควบคุม และถ้าหากผู้เลี้ยงเล่นกับสุนัขด้วยวิธีการในลักษณะนี้เป็นประจำ สุนัขก็จะมีนิสัยที่ก้าวร้ายรุนแรงติดตัวไป และยิ่งปล่อยไว้นานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งยากต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ผู้เลี้ยงที่ดีต้องรู้จักสุนัขของตัวเอง และใช้จิตวิทยาในการเลี้ยงสุนัข
การรู้จักสุนัขของตัวเองนั้น เราจะต้องรู้จักเขาทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ผู้เลี้ยงจะต้องรู้จักอารมณ์ของสุนัขของตัวเองในแต่ละช่วงว่า มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรือไม่ และต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร
อย่างทางด้านร่างกาย สุนัขอาจมีอารมณ์ก้าวร้าวหรือดุ ได้ในช่วงที่ฮอร์โมนของเขาเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงติดสัด ช่วงที่สุนัขตั้งท้อง ช่วงเลี้ยงลูก หรืออาจเกิดจากการที่ร่างกายของสุนัขมีความผิดปกติ มีอาการเจ็บป่วยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ปวดฟัน ปวดท้อง หรืออาจมีบาดแผล เป็นต้น
ส่วนในด้านของจิตใจนั้น เป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงเองต้องรู้จักใช้ความเข้าใจและใช้จิตวิทยาในการเลี้ยงสุนัข โดย ผู้เลี้ยงจะต้องเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมดุหรือก้าวร้าวของสุนัขก่อนว่าเกิดจากอะไร เช่น สุนัขมีพลังงานสูง มีความเป็นผู้นำสูง ถ้าหากผู้เลี้ยงไม่รู้จักวิธีการจัดการกับพลังงานในร่างกายสุนัขที่มีอย่างเหลือเฟือ ก็อาจจะทำให้สุนัขมีพลังงานเหลือมากเกินไป และมีความต้องการที่จะระบายพลังงานดังกล่าว จึงแสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมก้าวร้าวและดุดัน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ โดยอาจมีพฤติกรรม เห่าหอนมากผิดปกติ หวงที่อยู่ หวงของ ขุด กัด ทำลายข้าวของภายในบ้าน ไล่ผู้ที่เข้ามาในอาณาเขตของตนเอง เป็นต้น
สำหรับหลักจิตวิทยาง่ายๆ ที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาพลังงานอันล้นเหลือของสุนัขได้นั้น ผู้เลี้ยงอาจใช้วิธีชวนสุนัขทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการออกกำลังกาย เช่น เล่นโยนรับลูกบอล , เล่นซ่อนหาของ หรืออาจพาสุนัขไปวิ่งทุกเย็น ฯลฯ การให้สุนัขทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นประจำจะช่วยให้สุนัขสามารถควบคุมพลังงานของตัวเองได้ดีขึ้น
หรือในกรณีที่สุนัขไม่ได้มีพลังงานมากมายนัก แต่บังเอิญว่าในบ้านของผู้เลี้ยงไม่มีใครทำหน้าที่เป็น "จ่าฝูง" (อาจจะเลี้ยงสุนัขตัวเดียว และผู้เลี้ยงตามใจไม่ควบคุม ห้าม ดุ หรือฝึกเพื่อให้อยู่ภายใต้คำสั่ง)สุนัขเลยวางตำแหน่งของตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของบ้าน นั่นคือการเป็นจ่าฝูง ทำให้สุนัขรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้นำ ไม่ฟังคำสั่งใคร และยังแสดงอำนาจข่มสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว -*-
เห็นไหมคะว่า จริงๆ แล้วปัจจัยที่สำคัญที่จะมีผลต่อสุนัขของเราว่าจะดุหรือไม่ดุนั้น จริงๆ แล้วอยู่ที่การเลี้ยงดูและพฤติกรรมของผู้เลี้ยงเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องของสายพันธุ์นั้นถึงแม้จะมีผลบ้าง แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องของวิธีการเลี้ยงดูที่ถูกต้องหรอกค่ะ ... เพราะถ้าหากเรารู้จักวิธีการเลี้ยงสุนัขที่ถูกต้องแล้ว ไม่ว่าเราจะเลี้ยงสุนัขที่ขึ้นชื่อว่าดุแค่ไหน เราก็สามารถปรับและควบคุมเขาให้เป็นสุนัขที่เป็นมิตรและปลอดภัยต่อคนรอบข้างได้ค่ะ
ที่มา http://www.improvingdog.com/Aggressive-Dog-Behavior.html